เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ

ผลของการใช้แบคทีเรียสังเคราะห์แสงต่อการผลิตไรแดง

ผลของการใช้แบคทีเรียสังเคราะห์แสงต่อการผลิตไรแดง
Effect of photosynthetic bacteria on Moina macrocopa production

ไรแดง (Moina macrocopa) เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ ที่มีศักยภาพสูงในการใช้เป็นอาหารมีชีวิตสำหรับลูกปลา และลูกกุ้งวัยอ่อน โดยมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าตัวอ่อนของอาร์ทีเมียแรกฟักที่จำหน่ายในเชิงพาณิชย์ [1]  ไรแดงมีปริมาณโปรตีน 50 - 60 เปอร์เซ็นต์ (น้ำหนักแห้ง) และมีปริมาณไขมันรวมต่อน้ำหนักแห้ง 20 – 27 เปอร์เซ็นต์ [2] ไรแดงสามารถเพาะเลี้ยงในระบบการผลิตขนาดใหญ่ได้ภายใต้สภาวะที่หลากหลาย รวมถึงในสภาวะที่มีระดับออกซิเจนละลายน้ำ (DO) ต่ำและความเข้มข้นของแอมโมเนียสูง [3] ไรแดงสามารถเลี้ยงได้โดยใช้จุลินทรีย์ขนาดเล็กเป็นอาหาร เช่น แพลงก์ตอน ยีสต์ และแบคทีเรีย [4] โดยแพลงก์ตอนน้ำจืด เช่น คลอเรลลา เป็นที่รู้จักกันดีในการใช้เป็นแหล่งอาหารสำหรับการเลี้ยงไรแดง อย่างไรก็ตาม การผลิตไรแดงโดยใช้ คลอเรลลา ในระดับการค้ามีข้อจำกัด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิทั้งในรอบวันและฤดูกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝนที่ส่งผลให้ไม่สามารถเพาะเลี้ยงคลอเรลลา ให้ได้ผลผลิตที่แน่นอนได้ จึงจำเป็นต้องมีการเสริมคุณค่าทางโภชนาการเพื่อเพิ่มผลผลิตในการเลี้ยงไรแดงในระดับการค้า 

แบคทีเรียสังเคราะห์แสงพบทั่วไปในธรรมชาติทั้งในดิน แหล่งน้ำธรรมชาติ และน้ำเสีย ดำรงชีพอยู่ได้ทั้งในสภาวะมีออกซิเจน
และไร้ออกซิเจน โดยในสภาวะไร้ออกซิเจนนั้นมักจะพบแบคทีเรียสังเคราะห์แสงที่อยู่ในกลุ่ม purple nonsulfur bacteria (PNSB) เช่น Rhodobacter sphaeroides และ Rhodopseudomonas spalustris แบคทีเรียสังเคราะห์แสงในกลุ่มนี้มีลักษณะเด่นหลายประการ คือ มีผนังเซลล์ของแบคทีเรียสังเคราะห์แสงอ่อนนุ่ม และย่อยได้ง่าย มีคุณค่าทางอาหารสูง โดยมีโปรตีน 65 – 67 กรัม ต่อ 100 กรัมน้ำหนักแห้ง มีแคโรทีนอยด์หลายชนิด รวมถึงวิตามิน [5] ดังนั้น การศึกษาการใช้แบคทีเรียสังเคราะห์แสงในการเลี้ยงไรแดง (ภาพที่ 1) จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของแบคทีเรียสังเคราะห์แสงต่อการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการและการผลิตไรแดง

จากการศึกษาของ Labaiden et al. (2018) [6] พบว่าผลผลิตของไรแดงที่เลี้ยงด้วยคลอเรลลาร่วมกับแบคทีเรียสังเคราะห์แสงมีค่าสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) เมื่อเทียบกับการเลี้ยงด้วยคลอเรลลาหรือแบคทีเรียสังเคราะห์แสงเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ปริมาณแคโรทีนอยด์รวมในไรแดงที่เลี้ยงด้วยคลอเรลลาร่วมกับแบคทีเรียสังเคราะห์แสงมีค่าสูงกว่าชุดการทดลองอื่น ๆ สอดคล้องกับรายงานของ Kobayashi (1995) [7] ที่พบว่าการเพิ่มแบคทีเรียสังเคราะห์แสงเป็นแหล่งอาหารสามารถเพิ่มการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนสัตว์ได้ดีกว่าสาหร่ายสีเขียว และมีประโยชน์อย่างมากต่อการเจริญเติบโตของอาร์ทีเมีย นอกจากนี้ยังพบผลการทดลองที่คล้ายคลึงกันกับในโรติเฟอร์ Brachionus plicatilis [8] ดังนั้นผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการเลี้ยงไรแดงด้วยคลอเรลลาผสมกับแบคทีเรียสังเคราะห์แสงสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการและผลผลิตของไรแดงได้

 

 

 

 

 

 

 

 

ผู้เขียนบทความ: ดร.มัสธูรา ละใบเด็น
อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การประมง
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
ที่มาของบทความ :
วารสารเกษตรหันตรา ปีที่ 10 ฉบับที่ 3

 

เอกสารอ้างอิง

[1]   He, Z.H, Qin, J.G, Wang, Y., Jing H. & Wen, Z. 2001. biology of Moina mongolica (Moinidae, Cladocera) and perspective as live food for marine fish larvae: review. Hydrobiologia, 457: 25-37

[2] Islam, M.R., Hassan, M.R., Begum, M., Punom, N.J., Begum, M.K., Sultana, N. & Rahman, M.S. (2017). Effect of feeding zooplankton, Moina macrocopa (Straus, 1820) on the growth of Nile tilapia Oreochromis niloticus L. Bangladesh Journal of Scientific and Industrial Research, 52(2): 81-88

[3] Mubarak, A.S., Jusadi, D., Junior, M.Z. & Suprayudi, M.A. (2017). The population growth and the nutritional status of Moina macrocopa feed with rice bran and cassava bran suspensions. Journal Akuakultur Indonesia. 16(2): 223-233

[4] Siddque, N., Hassan, M.M, Khan, M.G.Q., Hassanat, M.A. & Rahman, M.Z.. (2004). Laboratory culture of Moina with organic and inorganic fertilizers. Bangladesh Journal of Fisheries. Research. 8(2): 87-93

[5]   ศิริลักษณ์ จารุสมบัติ. (2531). การใช้เซลล์แบคทีเรียสังเคราะห์แสงในอาหารเพื่อเร่งสีผิวปลาแฟนซีคาร์ฟ (Cyprinus carpio). วิทยานิพนธ์ปริญญาโท. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

[6] Labaiden, M., Phatkaew, S. Direkbusrakom, S. (2018). Effect of photosynthetic bacteria on Moina macrocopa production. In proceeding of The International Symposium on the Fusion of Science and Technologies (ISFT2018) 16 - 20 December Bangkok, Thailand

[7]   Kobayashi, M. (1995). Waste remediation and treatment using anoxygenic .(PP. 1272 - 1274). bacteria.
In: Blenkenship, R.E., Madigan, M.T., Bauer, C,E. (Eds.), Anamoxygenic phototrosynthetic bacteria. Kluwer Academic, Dordrecht

[8] Xu, B., Ding, M., Mao, J. & Xu, H.S. (1992). The food value of Phodopseudomonas spheroides for Brachionus plicatilis. Trans. Oceanol Limnol. 2: 17-22. (in Chinese, Abstract in English).







52 ครั้ง

Address
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
ศูนย์พระนครศรีอยุธยา หันตรา 60 หมู่ 3 ถนนสายเอเซีย ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
โทรศัพท์ 0 3570 9096
การให้บริการ

สถิติการเข้าชม
  • วันนี้ : 533 ครั้ง
  • เดือนนี้ : 7798 ครั้ง
  • ปีนี้ : 56172 ครั้ง
  • ทั้งหมด : 114652 ครั้ง
Follow Us

Copyright ©2024 ::คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มทร.สุวรรณภูมิ:: | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ