ระบบการปลูกพืชควบคุมแบบอัจฉริยะ

การพัฒนาระบบควบคุมอัตโนมัติในโรงเรือนปลูกเมล่อนเพื่อเพิ่มผลผลิต และคุณภาพของเมล่อน

         วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเมล่อนหมู่ใหญ่ร่วมใจพัฒนา อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดจากการรวมตัวกันของสมาชิกกลุ่มซึ่งมีอาชีพดั้งคือทำนาและปลูกผักบุ้งจีนที่ประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมจนไม่สามารถเพาะปลูกได้ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 หลังจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ส.ป.ก.พระนครศรีอยุธยา) ได้พาเกษตรกรไปศึกษาดูงานกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนที่จังสุพรรณบุรี โดยเริ่มจากการปลูกเมล่อนในที่โล่งแจ้ง หรือปลูกแบบชาวบ้านๆ ไม่มีโรงเรือนจึงทำให้เจอปัญหาเรื่องโรคแมลงผลผลิตเสียหาย ต่อมาได้พัฒนารูปแบบมาปลูกในโรงเรือนโดยกู้ยืมเงินทุนจาก ส.ป.ก.พระนครศรีอยุธยา ได้รายละ 1 แสนบาท นำมาสร้างโรงเรือนปลูกปรากฏว่าสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โรงเรือนที่ปลูกมีขนาด กว้าง 7 เมตร ยาว 41 เมตร และสูง 5 เมตร สามารถปลูกเมล่อนได้ 750 ต้น โดยช่วงเริ่มต้นมีโรงเรือน 10 หลัง และขยายเพิ่มขึ้นเป็น 58 หลัง และปัจจุบันเมื่อรวมทุกโรงชุมของสมาชิกเข้าด้วยกันแล้วจะมีทั้งหมด 200 โรงเรือน โดยมีสมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเมล่อนหมู่ใหญ่ร่วมใจพัฒนารวมทั้งสิ้น 31 คน (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2561) สายพันธุ์ที่ใช้ปลูก คือเมล่อนตาข่ายเนื้อสีส้ม, เมล่อนตาข่ายเนื้อสีเขียว, เมล่อนสีทองผิวเรียบเนื้อสีส้ม, เมล่อนสีทองผิวเรียบเนื้อสีขาว และเมล่อนสีทองผิวเรียบเนื้อสีเขียว 

เมล่อนที่ได้มีอยู่ 3 เกรด คือเกรดเอ น้ำหนักผล 1.3-2.5 กก. เกรดบี น้ำหนัก 1.2-1 กก. และเมล่อนที่ขนาดไม่ได้ตามข้อกำหนดเบื้องต้น เช่นน้ำหนักต่ำกว่า 1 กก. หรือมากกว่า 2.5 กก. โดยตลาดหลักๆ ที่ส่งคือห้างท๊อปซุปเปอร์มาร์เก็ต ในแบรนด์ (Smile melon) อาทิตย์ละ 2 ครั้งๆ ละ 1,560 กิโลกรัม ราคาส่งที่ 85 บาท/กิโลกรัม และส่งเข้าโรงแรม จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเบื้องต้นพบปัญหา ของกลุ่มเกษตรกรคือโรคและแมลง ความร้อนภายในโรงเรือนในขณะปฏิบัติงาน ช่วงแสงในการเพาะปลูก ความสมบูรณ์ของดินปลูก ขั้นตอนการทำหวานของเมล่อนให้ได้ค่าความหวานที่ตลาดต้องการคือควบคุมความหวานที่ 14 brix ขึ้นไปจะทำให้เมล่อนบางส่วนยืนต้นเหี่ยวตาย ซึ่งปัญหาดังกล่าวล้วนเกิดจากปัจจัยต่างๆ ในกระบวนการผลิต จากการพูดคุยสอบถามเกี่ยวกับปัญหาในการดำเนินงานของเกษตรกรพบว่าการปลูกเมล่อนในโรงเรือน 1 ครั้งจะได้ผลผลิต 500 ลูก จากการปลูกทั้งหมด 750 ต้น ในโรงเรือน “เป็นการปลูกแบบการไว้ผลเมล่อน 1 ลูก ต่อ 1 ต้น” คิดเป็นความเสียหาย 35% โดยประมาณ ซึ่งถ้าเป็นเมล่อนเกรดเอจะมีมูลค่าความเสียหายอย่างต่ำ 27,600 บาทต่อโรงเรือน

          จากแผนการพัฒนาประเทศซึ่งมี “เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2560 – 2579)” โดยมีเป้าหมายยุธศาสตร์ในหลายด้านโดยในภาคของการเกษตรจะอยู่ในเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน “การพัฒนาภาคการผลิตและบริการ” เสริมสร้างฐานการผลิตเข้มแข็งยั่งยืน และส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยสู่เกษตรยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “การพัฒนาผู้ประกอบการและเศรษฐกิจชุมชน” พัฒนาทักษะผู้ประกอบการยกระดับผลิตภาพแรงงานและพัฒนา SMEs สู่สากล ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้จำเป็นต้องมีการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคการเกษตรและบริการ การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยด้านอาหาร การเพิ่มขีดความสามารถทางการค้า และการเป็นผู้ประกอบการ อีกหนึ่งเป้าหมายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะขับเคลื่อนภาคการเกษตรเข้าสู่เกษตรยุคดิจิทัลคือ “เป้าหมายประเทศไทย 4.0” ที่รัฐบาลได้ประกาศไว้เพื่อเปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ภาคการเกษตรเป็นอีกปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นอย่างมากเพราะประเทศไทยมีการทำเกษตรกรรมเป็นจำนวนมากและมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ทำให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบ เมื่อนำภาคการเกษตรเข้าสู่ ประเทศไทย 4.0 ด้วยการเปลี่ยนจากการปลูกแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นบริหารจัดการ และใช้เทคโนโลยีเข้าร่วมในกระบวนการเพาะปลูก เพื่อเพิ่มคุณภาพให้แก่ผลิตภัณฑ์ และเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกร จากที่กล่าวมาจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นจังหวัดที่มีภาคการเกษตรอยู่เป็นจำนวนมากทำให้จังหวัดได้วางแผนการพัฒนาจังหวัด (2561 – 2564) ใน “ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3: พัฒนาภาคการผลิตการค้า และบริการโดยใช้นวัตกรรม และภูมิปัญญาที่สร้างสรรค์” โดยมีเป้าหมายคือผลผลิตทางการเกษตรมีความปลอดภัยจากสารพิษ มีคุณภาพ และมูลค่าเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และสามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดภายในประเทศ และต่างประเทศ และเป็นเขตอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่มีกระบวนการผลิตได้มาตรฐานสากลไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

          คณะทำงานวิจัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวและเพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายคณะทำงานวิจัยจึงได้นำปัญหาของ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเมล่อนหมู่ใหญ่ร่วมใจพัฒนา อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา” มาเป็นต้นแบบในการผลักดันและขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาด้วยนวัตกรรม โดยได้ใช้ประเด็นปัญหาของคุณภาพผลผลิตที่ไม่สม่ำเสมอ และความเสียหายของผลผลิตที่เกิดขึ้นขณะการเร่งความหวานให้เมล่อน โดยมีแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการควบคุมปัจจัยการผลิตเหล่านั้นด้วยเทคโนโลยีควบคุมอัตโนมัติภายในโรงเรือนปลูกพืช จากการลงสำรวจพื้นที่พบว่าเกษตรกรมีโรงเรือนเพาะปลูกพืชเดิมที่ใช้ปลูกเมล่อน แต่ยังไม่สามารถควบคุมปัจจัยการผลิตได้ แต่เนื่องด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในระบบโรงเรือนได้หลากหลายเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้นได้

คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์พระนครศรีอยุธยา หันตรา
60 หมู่ 3 ถนนสายเอเซีย ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
โทรศัพท์: 0-3570-9096 หรือ 06-3256-5929   E-mail : agrihuntra@rmutsb.ac.th

Translate »