เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ

ผลของการใช้ไรแดงเสริมแบคทีเรียสังเคราะห์แสงต่อการเจริญเติบโต และการทนต่อความเครียดในการอนุบาลลูกกุ้งขาวแวนนาไม

      การผลิตลูกกุ้งขาว (Litopenaeus vannamei) ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดนั้นคือการหาวิธีที่ทำให้ลูกกุ้งมีอัตรารอดสูง แข็งแรง และปราศจากโรค เมื่อนำไปเลี้ยงต่อมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีจะเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งของเกษตรกร ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้มีปัจจัยอยู่หลายประการ[1] อาหารกุ้ง เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการผลิตลูกกุ้ง โดยเฉพาะอาร์ทีเมีย ปัจจุบันอาร์ทีเมียที่เก็บได้จากธรรมชาติมีปริมาณน้อยลง ทำให้ขาดแคลน ส่งผลให้ราคาของไข่อาร์ทีเมียเพิ่มขึ้น และทำให้ผู้ประกอบการโรงเพาะฟักและอนุบาลลูกกุ้งมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการนำอาหารชนิดอื่น เช่น โคพิพอด โรติเฟอร์ และไรแดง[2] มาทดแทนอาร์ทีเมียสำหรับการอนุบาลลูกกุ้ง ไรแดงเป็นอาหารมีชีวิตที่นิยมใช้อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยมีโปรตีน 68.1-74.0 เปอร์เซ็นต์ คาร์โบไฮเดรต 12.5 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 9.1-10.9 เปอร์เซ็นต์[3] อย่างไรก็ตามการแทนที่อาร์ทีเมียด้วยไรแดง ยังไม่สามารถทดแทนอาร์ทีเมียได้ 100 เปอร์เซ็นต์ มีการศึกษาการนำไรแดงมาอนุบาลลุกกุ้งกุลาดำ พบว่า ลูกกุ้งที่อนุบาลด้วยไรแดงมีอัตราการรอดตายสูง แต่มีการเจริญเติบโตน้อยกว่าลูกกุ้งที่อนุบาลด้วยอาร์ทีเมีย ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากไรแดงมีคุณค่าทางอาหาร เช่น รงควัตถุพวกคาโรทีนอยด์ กรดไขมันที่จำเป็นน้อยกว่าอาร์ทีเมียแรกฟัก โดยไรแดงมีกรดไขมันที่จำเป็น 4.22 มิลลิกรัม/100 มิลลิกรัมน้ำหนักแห้ง ในขณะที่อาร์ทีเมียมีกรดไขมันที่จำเป็น 6.98 มิลลิกรัม/100 มิลลิกรัมน้ำหนักแห้ง[4] 

     แบคทีเรียสังเคราะห์แสง พบทั่วไปในธรรมชาติ ทั้งในดิน แหล่งน้ำธรรมชาติ และน้ำเสีย ดำรงชีพอยู่ได้ทั้งใน สภาวะมีออกซิเจน
และ ไร้ออกซิเจน โดยในสภาวะไร้ออกซิเจนนั้นมักจะพบแบคทีเรียสังเคราะห์แสงที่อยู่ในกลุ่ม purple nonsulfur bacteria (PNSB) เช่น Rhodobacter sphaeroides และ Rhodopseudomonas spalustris แบคทีเรียสังเคราะห์แสงในกลุ่มนี้มีลักษณะเด่นหลายประการ คือ มีผนังเซลล์ของแบคทีเรียสังเคราะห์แสงอ่อนนุ่ม และย่อยได้ง่าย มีคุณค่าทางอาหารสูง คือมีโปรตีน 65-67 กรัมต่อ 100 กรัม น้ำหนักแห้ง มีแคโรทีนอยด์หลายชนิด[5] การเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้กับไรแดงด้วยแบคทีเรียสังเคราะห์แสงนั้นอาจทำให้ไรแดงมีคุณค่าทางอาหารเพิ่มขึ้น
ดังนั้นการศึกษาการใช้ไรแดงเสริมแบคทีเรียสังเคราะห์แสงอนุบาลลูกกุ้งขาวแวนนาไม (ภาพที่ 1)
จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเจริญเติบโต อัตราการรอดตายและความทนทานต่อสภาพความเครียดของลูกกุ้งขาวแวนนาไมที่อนุบาลด้วยไรแดงที่เลี้ยงด้วยคลอเรลล่า
แบคทีเรียสังเคราะห์แสง และอาร์ทีเมีย[6]

ภาพที่ 1 การเตรียมเชื้อแบคทีเรียสังเคราะห์แสงเสริมให้ไรแดงกินและนำไปอนุบาลลูกกุ้งขาวแวนนาไม

             จากการศึกษาครั้งนี้ถึงแม้การเจริญเติบโตด้านน้ำหนัก และอัตราการรอดตายของลูกกุ้งขาวที่อนุบาลด้วยอาร์ทีเมียไรแดงที่เลี้ยงด้วยคลอเรลล่าและแบคทีเรียสังเคราะห์แสง เป็นระยะเวลา 15 วัน ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ (P>0.05) แต่กุ้งขาวที่อนุบาลด้วยไรแดงที่เลี้ยงด้วยคลอเรลล่าร่วมกับแบคทีเรียสังเคราะห์แสง มีแนวโน้มที่มีการเจริญเติบโตด้านความยาวและอัตราการรอดตายที่ดีกว่ากุ้งที่อนุบาลด้วยไรแดงที่เลี้ยงด้วยคลอเรลล่าเพียงชนิดเดียว ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากแบคทีเรียสังเคราะห์แสงมีโปรตีน 62 เปอร์เซ็นต์ และที่สำคัญมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการเจริญครบถ้วน ในขณะที่คอลเรลล่ามีเมทไธโอนิน (methionine) เพียง 0.27 กรัมต่อ 100 กรัมน้ำหนักแห้ง จากการศึกษาของ Li et al. (1993)[7] นำไปใช้เลี้ยงกุ้ง พบว่าสามารถเพิ่มอัตราการรอดของลูกกุ้งวัยอ่อน (post larvae) ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ และยังเพิ่มความต้านทานโรคอีกด้วย ในการทดลองครั้งนี้ปริมาณคาโรทีนอยด์ของกุ้งขาวที่อนุบาลด้วยอาหารต่างชนิดกัน พบว่า ปริมาณคาโรทีนอยด์ของกุ้งขาวที่อนุบาลด้วยอาร์ทีเมียมีปริมาณมากที่สุด คือ 4.63±0.42 มิลลิกรัม/กรัม สอดคล้องกับ การศึกษาของ Yamada และคณะ (1990)[8] 
             รายงานว่า ลูกกุ้งคุรุมาที่ได้รับอาหารผสมคาโรทีนอยด์ 100 พีพีเอ็ม มีอัตราการรอดตาย 91.4 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้รับอาหารผสมคาโรทีนอยด์มีอัตรารอดเพียง 75 - 85 เปอร์เซ็นต์ จากการทดสอบความทนทานต่อการเพิ่มความเค็มอย่างเฉียบพลัน จาก 5 พีพีที
เป็น 30 พีพีที เป็นระยะเวลา 3 ชั่วโมง พบว่า อัตรา
การรอดตายของลูกกุ้งขาวอนุบาลด้วยอาหารต่างชนิดกันไม่มี ความแตกต่างกันทางสถิติ (P>0.05) ดังนั้นการศึกษานี้แสดงถึงศักยภาพของการใช้ไรแดงเลี้ยงด้วยคลอเรลล่าร่วมกับแบคทีเรียสังเคราะห์แสงในการอนุบาลลูกกุ้งขาวแวนนาไมลักษณะทดแทนอาร์ทีเมียได้ในบางส่วน

 

ผู้เขียนบทความ: อาจารย์ ดร.มัสธูรา ละใบเด็น
อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การประมง
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ

 

เอกสารอ้างอิง

[1] วาสนา อากรรัตน์ วุฒิชัย อ่อนเอี่ยม และประภาพร ดีมาก. (2564). การประยุกต์ใช้คีโตเซอรอส (Chaetoceros sp.) และโรติเฟอร์ (Brachionus rotundiformis) ที่เก็บรักษาในรูปแบบเข้มข้นสำหรับการอนุบาลลูกกุ้งขาวและปูม้า วารสารวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย 13(1): 12-23.
[2]Focken, U., Schlechtriem, C., Von Wuthenau, M., Garcia-Ortega, A., Puello-Cruz, A. & Becker, K. (2006). Panagrellus redivivus mass produced on solid media as live food for Litopenaeus vannamei larvae. Aquaculture Research. 37: 1429-1436.
[3] นุกูล แสงพันธุ์ เอื้ออารี สุขสมนิตย์ และพิสมัย เฉลยศักดิ์. (2559). การเพาะเลี้ยงไรแดง. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
[4] สมประสงค์ ขันถม บัวคำลิ้มสุรินต์ และวิชัย ชัยชนะกสิกรรม. (2543). เปรียบเทียบการอนุบาลลูกกุ้งกุลาดำโดยใช้อาร์ทีเมียและไรแดง
น้ำจืดเป็นอาหาร
. เอกสารวิชาการฉบับที่ 1/2543. ศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรุงเทพฯ.
[5] ศิริลักษณ์ จารุสมบัติ. (2531). การใช้เซลล์แบคทีเรียสังเคราะห์แสงในอาหารเพื่อเร่งสีผิวปลาแฟนซีคาร์ฟ (Cyprinus carpio). บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
[6] มัสธูรา ละใบเด็น ธวัฒน์ชัย งามศิริ และทินวุฒิ ล่องพริก. (2565). ผลของการใช้ไรแดงเสริมแบคทีเรียสังเคราะห์แสงต่อการเจริญเติบโต และทนต่อความเครียด ในการอนุบาลลูกกุ้งขาวแวนนาไม. วารสารขอนแก่น ฉบับพิเศษ 1: 318-322
[7]Li, G., Y., jiang, Y. & Ding, M. (1993). The test of photosynthetic bacteria used in prawn’ S breeding as additive. Marine Sciences. 1: 52-54.
[8] Yamada, S., Tanaka, Y., Sameshima, M. & Ito, Y. (1990). Pigmentation of prawn (Penaeus japonicas) with carotenoids I. Effect of dietary astaxanthin, b-carotene and canthaxanthin on pigmentation. Aquaculture. 87: 323-330.

 







158 ครั้ง

Address
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
ศูนย์พระนครศรีอยุธยา หันตรา 60 หมู่ 3 ถนนสายเอเซีย ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
โทรศัพท์ 0 3570 9096
การให้บริการ

สถิติการเข้าชม
  • วันนี้ : 119 ครั้ง
  • เดือนนี้ : 34410 ครั้ง
  • ปีนี้ : 56933 ครั้ง
  • ทั้งหมด : 56933 ครั้ง
Follow Us

Copyright ©2024 ::คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มทร.สุวรรณภูมิ:: | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ