เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ

การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ สาเหตุปัญหา และความท้าทายในกระบวนการผลิตพืช

การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ สาเหตุปัญหา และความท้าทายในกระบวนการผลิตพืช

Climate Change : Issues and Challenges in Agricultural Production Processes

     การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศในปัจจุบัน ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการเกษตรกรรมและการผลิตพืชซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการผลิตพืชมีปัจจัยสภาพแวดล้อมหลายอย่างที่เกี่ยวข้องทั้งต่อการพัฒนาการเจริญเติบโตทางสรีรวิทยา การสะสมอาหาร และการให้ผลผลิต ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศนั้นส่งผลทำให้ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิไม่คงที่ ปริมาณน้ำฝนลดลง/เพิ่มขึ้นและช่วงแสง ซึ่งจะทำให้การติดดอก และพัฒนาการตาดอกของพืชบางชนิดช้าลง การสะสมอาหารในพืชบางชนิดลดลง และผลจากภัยพิบัติอื่น ๆ อาทิ การเกิดน้ำท่วมขังหรือภัยแล้งที่ส่งผลให้ไม้ผลยืนต้น และพืชไร่เสียหาย เป็นต้น [1], [2] จากข้อมูลในวารสาร Frontiers in Plant Science ฉบับที่ 13 ปี ค.ศ. 2022 ได้มีการกล่าวถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง ทางสภาพภูมิอากาศต่อการผลิตพืช ปัญหา โอกาส และความท้าทายในทวีปเอเชีย โดยพบว่า ผลของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนั้น อาจทำให้ผลผลิตพืชของภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยที่เป็นแหล่งผลิตพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญลำดับต้น ๆ ของโลก [3]

    โดยผลกระทบนี้เกิดจากภาวะการเปลี่ยนแปลงอากาศ 2 รูปแบบ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2564 ที่พบว่าประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วม และพายุฤดูร้อน โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายน ถึงพฤศจิกายน ซึ่งเกิดจากกระแสลมพัดผ่านจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกมายังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกตามเดิม แต่กระแสลมมีความรุนแรงมากกว่าปกติ ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียมีระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและฝนตกหนักมากกว่าปกติ ในขณะที่ตามแนวชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้เกิดภาวะความแห้งแล้งหรือที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อ “ปรากกการณ์ลานีญา (La Niña)

                                                                                     

ภาพที่ 1 คาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกบริเวณพื้นที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงปี ค.ศ. 2022 – 2050 (28 ปี)
ซึ่งอาจส่งผลต่อการเกิดปรากฏการณ์สภาวะอากาศแปรปรวน และการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรทางธรรมชาติ  แหล่งที่มา: McKinsey and Company (2023) [5]

   

         ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2566 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศอีกครั้งโดยส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำในพื้นที่การเกษตร ซึ่งมีผลกระทบเป็นวงกว้างมากถึง 78 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่เกษตรในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน  ซึ่งจากข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) พบว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสลมที่มีกำลังอ่อนลง และเปลี่ยนทิศทางพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปฟิซิกไปด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปฟิซิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหล ไปยังทวีปอเมริกาใต้แทน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño)” จึงทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียอาจเกิดภาวะแห้งแล้ง แต่ชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้กลับมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น

      ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศนั้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อกระบวนการผลิตพืชของไทย เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย และไม้ผลยืนต้นเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ เงาะ มังคุด และโดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าการผลิตที่สูงขึ้น และมีความต้องการทั้งในและต่างประเทศสูงขึ้นการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศแบบฉับพลัน อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งต่อต้นทุเรียน คุณภาพ และปริมาณของผลผลิตทุเรียนได้เช่นกัน นอกจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตแล้วนั้น ยังทำให้การระบาดของศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคและแมลงมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นรายงานของ Pongpisutta และคณะ ในปี ค.ศ. 2023 [4] ที่พบการระบาดของโรคกิ่งแห้งทุเรียนครั้งแรกในประเทศไทย นอกจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตแล้วนั้น ยังทำให้การระบาดของศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคและแมลงมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

      ยกตัวอย่างเช่น รายงานของ Pongpisutta และคณะในปี ค.ศ. 2023 [4] ที่พบการระบาดของโรคกิ่งแห้งทุเรียนครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่การระบาดทั้งในเขตภาคตะวันออก เช่น จันทบุรี ตราด และระยอง รวมถึงภาคใต้ เช่น ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และนราธิวาส อีกทั้งยังพบว่าการระบาดของเชื้อราสาเหตุโรคกิ่งแห้งนั้น มีความสัมพันธ์กับมอดกลุ่มแอมโบรเซีย (Ambrosia beetles) ซึ่งส่งผลให้ต้นทุเรียนเกิดความเสียหายได้เป็นวงกว้างมากขึ้น หรือจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของประชากรจุลินทรีย์ Cephaleuros virescens สาเหตุโรคใบจุดสาหร่ายของทุเรียนช่วงเดือนเมษายน และเดือนตุลาคมในพื้นที่สวนทุเรียนจังหวัดปราจีนบุรี (ภาพที่ 2) เป็นต้น                             

ภาพที่ 2 สภาวะอากาศที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของปริมาณจุลินทรีย์ Cephaleuros virescens ในช่วงเดือนเมษายน และเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566
ในพื้นที่ปลูกทุเรียนจังหวัดปราจีนบุรี

      ปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีการผลิตพืช จึงเข้ามามีบทบาททั้งในเรื่องของการพัฒนากรรมวิธีปลูกพืชในระบบปิด เพื่อเพิ่มคุณภาพ รวมถึงการศึกษาศัตรูพืชและนิเวศวิทยาเพื่อการควบคุมด้วยวิธีที่ทันสมัย อาทิ การใช้อากาศยานไร้คนขับ การพัฒนาเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในการส่งเสริมและจัดการศัตรูพืชซึ่งกระบวนการและวิธีการดังกล่าวถือเป็นความท้าทายของนักวิจัยไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศแปรปรวน เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดความเสียหายทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
    รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์เพื่อการแข่งขันที่สูงขึ้นระหว่างประเทศในเชิงเศรษฐกิจ ให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติทางการเกษตรและการบริหารจัดการเกี่ยวกับภัยพิบัติด้านการเกษตร ด้านพืช ในภาพรวม และผลักดันภาคการเกษตรไทยสู่สากลและเป็นที่ยอมรับของตลาดโลกต่อไป

 

 

   

ผู้เขียนบทความ: อ.ดร.สัณฐิติ บินคาเดอร์ อ.ดร.ศิโรรัตน์ เขียนแม้น อ.ดร.ทิพย์วรา เทียนสว่าง อ.ดร.ธนวรรณ พรมขลิบนิล และอ.อรุณี คงสอน
อาจารย์ประจำสาขาวิชาพืชศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
ที่มาของบทความ : วารสารเกษตรหันตรา ปีที่ 9 ฉบับที่ 3 ประจำเดือน กันยายน – ธันวาคม 2566



 

 

 

                                      

    







574 ครั้ง

Address
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
ศูนย์พระนครศรีอยุธยา หันตรา 60 หมู่ 3 ถนนสายเอเซีย ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
โทรศัพท์ 0 3570 9096
การให้บริการ

สถิติการเข้าชม
  • วันนี้ : 75 ครั้ง
  • เดือนนี้ : 2857 ครั้ง
  • ปีนี้ : 2857 ครั้ง
  • ทั้งหมด : 61336 ครั้ง
Follow Us

Copyright ©2024 ::คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มทร.สุวรรณภูมิ:: | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ