เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ

การออกแบบและพัฒนาเครื่องล้างและคัดขนาดละมุดระบบกึ่งอัตโนมัติ

     ละมุดเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานสุกมีรสชาติหวานให้พลังงานสูงเหมาะแก่การปลูกในเขตร้อนชื้นอย่างประเทศไทย
และประเทศเพื่อนบ้าน พื้นที่เพาะปลูกละมุด
ในประเทศไทยทั้งหมด 32 จังหวัด พื้นที่รวม 16,779.25 ไร่ ผลผลิตทั้งประเทศรวม 5,308 ตัน [1]ละมุดเป็นพืชที่ทนต่อสภาพน้ำท่วมขังในฤดูฝนและสภาพแห้งแล้งในช่วงฤดูแล้ง [2]สามารถเจริญเติบโตในสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำได้ดีพันธุ์ละมุดที่นิยมปลูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ละมุดไทย และละมุดฝรั่ง ละมุดไทย หรือละมุดสีดาเป็นละมุดพันธุ์พื้นเมืองผลขนาดเล็ก ปัจจุบันไม่นิยมปลูก ส่วนละมุดฝรั่งมีหลายพันธุ์ที่นิยมปลูกเพื่อการค้า ได้แก่ พันธุ์มะกอกเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมที่สุด และพันธุ์ไข่ห่าน พันธุ์กระสวย พันธุ์ฝาชี เป็นต้น 
     จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีการปลูกละมุดมากในเขตอำเภอมหาราช เรียกว่า ละมุดบ้านใหม่ หมายถึง ละมุดพันธุ์มะกอกที่มีทรงผล
กลมรี ลูกเล็กคล้ายผลมะกอก ผิวเปลือกบาง สีน้ำตาลเข้ม เนื้อแน่นละเอียด กรอบ รสชาติหวาน และมีกลิ่นหอม ได้รับอนุญาตให้ใช้
ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย โดยมีขอบเขตคลอบคลุมพื้นที่การปลูกในตำบลบ้านใหม่ ตำบลท่าตอ และตำบลบ้านขวาง อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีลักษณะพื้นที่ราบลุ่มเป็นดินที่มีการระบายน้ำได้ดี ส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย และดินร่วนหยาบในสันดอน ริมสองฝั่งคลองบางแก้ว มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ จากการพัดพาดินตะกอนแม่น้ำเจ้าพระยามาทับถมเป็นเวลาหลายปีจนเกิดเป็นแผ่นดินงอกยื่นออกไปตลอดริมฝั่งคลอง ส่งผลให้ดินมีแร่ธาตุที่เหมาะสมต่อการปลูกละมุด


ภาพที่ 1 การลงพื้นที่รับฟังปัญหาของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนละมุดท่าตอ

      กลุ่มวิสาหกิจชุมชนละมุดท่าตอ ตำบลท่าตอ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นการรวมตัวของเกษตรกร ผู้ปลูกละมุดในระดับชุมชนในตำบลท่าตอ มีสมาชิกทั้งหมดจำนวน 22 ราย จำนวนต้นละมุดรวมประมาณ 1,200 ต้น ผลผลิตจะออกในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม รวมประมาณ 100 ตันต่อปี  ผลผลิตของสวนสมาชิกจะส่งมารวมกันที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนละมุดท่าตอ
เพื่อรวบรวมผลผลิต ซึ่งขั้นตอนการผลิตละมุดของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแสดงในภาพที่ 2



                                                                     ภาพที่ 2
แสดงแผนผังขั้นตอนการผลิต

     ผลผลิตที่ผ่านการทำความสะอาดและผึ่งลมให้แห้งแล้วจะนำมาคัดแยกขนาดก่อนจะนำไปบ่ม หรือนำไปบรรจุภัณฑ์เพื่อจำหน่าย จำนวน 3 ขนาด ได้แก่ ละมุดขนาดใหญ่ ส่งขายในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล อยุธยา ราคากิโลกรัมละ 50 บาท ละมุดขนาดกลาง วางขายหน้าสวน และบ้านลิเกอาหารป่าแอนด์โฮมสเตย์ ส่วนละมุดขนาดเล็กเป็นละมุดที่เหลือจากการคัดขนาดทั้งสองขนาดจะถูกนำมาปอกเปลือก คว้านเอาเมล็ดออกเพื่อนำไปแปรรูปขาย เช่น ไปทำละมุดปั่น คั้นน้ำละมุด เป็นต้น จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลของผู้ที่เสนอโครงการพบว่าปัญหาหลัก ๆ ในขั้นตอนกระบวนการผลิตละมุดของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนละมุดท่าตอ พบปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากการผลิตใช้แรงงานคนในการทำงานเป็นหลัก สมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุทำให้การทำงานล่าช้า เกิดความผิดพลาดในการคัดขนาด โดยเฉพาะขั้นตอนในการล้าง ผึ่งลมและคัดขนาดซึ่งมีขั้นตอนการทำงานหลายขั้นตอนและใช้เวลาในการทำงานที่ค่อนข้างมาก
ทำให้กำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อการจำหน่ายและการทำงานหลายขั้นตอนนี้ยังมีโอกาสทำให้ละมุดช้ำเสียหายมากขึ้นทางกลุ่มจึงมีความต้องการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการลดแรงงานคน ลดเวลา เพิ่มกำลังการผลิตและต้องคงคุณภาพการบอบช้ำของผิวละมุดให้น้อยที่สุด ใช้งานง่ายและสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก

                       

                      ภาพที่ 3 การทดสอบเปอร์เซ็นต์ความแม่นยำ                                  ภาพที่ 4 แสดงภาพการออกแบบเครื่องล้าง
           ในการคัดแยกละมุดของเครื่องล้างและคัดขนาดละมุดระบบกึ่งอัตโนมัติ                          และคัดขนาดละมุดระบบกึ่งอัตโนมัติ

 

        ดังนั้นการพัฒนาและสร้างเครื่องล้างและคัดขนาดละมุดระบบกึ่งอัตโนมัติให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการ
ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสามารถนำไปใช้งานได้จริง พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยี เผยแพร่ผลงานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
สู่ชุมชน เป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถและเพิ่มความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการชุมชนทำให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเอง
ได้อย่างยั่งยืน

       การออกแบบและพัฒนาสร้างเครื่องล้างและคัดขนาดละมุดระบบกึ่งอัตโนมัติ มีขนาด (กว้างxยาวxสูง) 67x350x147 เซนติเมตร น้ำหนัก 350 กิโลกรัม ตัวเครื่องทำจากวัสดุที่สอดคล้องกับระบบมาตรฐาน (SUS 304)

ภาพที่ 5 การทดสอบความสามารถในการทำงานของเครื่องล้างและคัดขนาดละมุดระบบกึ่งอัตโนมัติ

      หลักการทำงานของเครื่อง จะแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ๆ คือส่วนแรกที่ทำการล้างซึ่งมีหลักการทำงานโดยผิวละมุดจะถูกขัดสีทำความสะอาดด้วยชุดขัดทรงกระบอกแล้วชะล้างด้วยน้ำจากหัวฉีดที่สเปรย์ลงมาจากด้านบน และส่วนที่สองจะเป็นการเป่าแห้งแล้วคัดขนาดซึ่งหลักการทำงานจะทำงานต่อเนื่องกันหลังจากทำการล้างเสร็จ ละมุดจะถูกลำเลียงผ่านชุดพัดลมโดยใช้เทคนิคการเป่าในทิศทางสลับหน้าหลังเพื่อให้ผิวละมุดแห้งทั้งสองด้าน จากนั้นละมุดจะถูกลำเลียงเข้าชุดคัดขนาดชุดที่หนึ่งจะได้ขนาดผลละมุดขนาดเล็ก ชุดคัดขนาดชุดที่สอง ได้ผลละมุดขนาดกลาง และสุดท้ายได้ผลละมุดขนาดใหญ่ เป็นต้น


                                                           (ข) คนล้าง          (ก) เครื่องล้าง

ภาพที่ 6 การทดสอบเปอร์เซ็นต์การเสียหายโดยคนล้าง
(ภาพ ก.) หลังจากผ่านเครื่องล้าง  (ภาพ ข.) และคัดขนาดละมุดระบบกึ่งอัตโนมัติ

         ผลการทดสอบสมรรถนะและประสิทธิภาพของเครื่องล้างและคัดขนาดละมุดระบบกึ่งอัตโนมัติ ที่ความเร็วรอบของลูกกลิ้งล้างทำความสะอาด 22 รอบต่อนาทีและความเร็วรอบของลูกกลิ้งคัดขนาด 9 รอบต่อนาทีเป็นความเร็วที่เหมาะสมต่อการใช้งาน พบว่า มีความสามารถในการทำงานของเครื่องล้างและคัดขนาดละมุดระบบกึ่งอัตโนมัติเฉลี่ย 186.33 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ประสิทธิภาพการล้างเฉลี่ย 81.66 เปอร์เซ็นต์ ความแม่นยำในการคัดแยกเฉลี่ย 96.81 เปอร์เซ็นต์ และการเสียหายเฉลี่ย 2.05 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการล้างโดยคนล้างมีความเสียหายเฉลี่ย 1.88 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์การเสียหายจากเครื่องจะสูงกว่าการล้างโดยคนล้างแต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้คือน้อยกว่า 3 เปอร์เซ็นต์

ภาพที่ 7 การส่งมอบเครื่องล้างและคัดขนาดละมุด
ระบบกึ่งอัตโนมัติให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนละมุดท่าตอ

 

 

                                                                                                                   

ผู้เขียนบทความ: ดร.สิงห์รัญ ชารี ผศ.สุรเชษฐ์ บำรุงคีรี อ.สาโรจน์ ยิ้มถิน และ ผศ.กันติพจน์ กองแก้ว
อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตร
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ

 

เอกสารอ้างอิง
กรมส่งเสริมการเกษตร. 2562. รายงานสถานการณ์การปลูก ละมุด ปี2562. [สืบค้นวันที่ 15 มีนาคม 2565].
        จาก http://www.agriinfo.doae.go.th/year63/plant/rortor/fruit/sapodilla.pdf

 

 

 

 

 

 

 

 







83 ครั้ง

Address
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
ศูนย์พระนครศรีอยุธยา หันตรา 60 หมู่ 3 ถนนสายเอเซีย ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
โทรศัพท์ 0 3570 9096
การให้บริการ

สถิติการเข้าชม
  • วันนี้ : 51 ครั้ง
  • เดือนนี้ : 3727 ครั้ง
  • ปีนี้ : 20660 ครั้ง
  • ทั้งหมด : 20660 ครั้ง
Follow Us

Copyright ©2024 ::คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มทร.สุวรรณภูมิ:: | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ